วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การอนุรักษ์ป่าไม้       
           
              ป่าไม้มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีพของมนุษย์และการคงอยู่ของสิ่งแวดล้อมต่างๆ จากการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ในทุกส่วนของโลกหรือของประเทศไทย ทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการสูญเสียและผลที่ได้รับจากการกระทำอันนี้ การดำเนินงานอนุรักษ์ป่าไม้จึงได้รับความสนใจจากภาครัฐบาลและเอกชน และประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง การอนุรักษ์ป่าไม้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกระทำได้ดังนี้
           
1.การกำหนดนโยบายป่าไม้แห่งชาติ นโยบายป่าไม้แห่งชาติมีอยู่ 20 ข้อที่สำคัญคือ การกำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศอย่างน้อยในอัตราร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ เป็นการกำหนดแนวทางการจัดการและการพัฒนาป่าไม้ในระยะยาวเพื่อประโยชน์ 2 ประการ ดังนี้
               
1.1 ป่าเพื่อการอนุรักษ์ กำหนดไว้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่หายาก และป้องกันภัยธรรมชาติอันเกิดจากน้ำท่วมและการพังทลายของดิน ตลอดทั้งเพื่อประโยชน์ในการศึกษา การวิจัย และนันทนาการของประชาชนในอัตราร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 48 ล้านไร่
                 
1.2 ป่าเพื่อเศรษฐกิจ กำหนดไว้เพื่อการผลิตไม้และของป่า เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ในอัตราร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 80 ล้านไร่ ป่าอนุรักษ์ หมายถึง พื้นที่ได้รับการคุ้มครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยทั่วไปอยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้อาจเป็นพื้นที่ป่าไม้ชายฝั่งทะเล หรือลักษณะอื่นๆ ที่มีระบบ นิเวศดั้งเดิม หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เพื่อใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ เช่น การท่องเที่ยว นันทนาการ การศึกษาวิจัย ป่าอนุรักษ์ในระดับสากล (IUCN) แบ่งออกเป็น 10 ประเภท ส่วนในประเทศไทยประกอบด้วย 11 ประเภท ดังนี้
           
1.อุทยานแห่งชาติ (National Park) หมายถึงที่ดินซึ่งรวมความถึงพื้นที่ดินทั่วไป ภูเขา ห้วย หนอง คลองบึง บาง ลำน้ำทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลที่ได้รับการกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ในทางปฏิบัติอุทยานแห่งชาติ คือ พื้นที่ที่สงวนไว้เพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้และสัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ธรรมชาติ ที่สวยงาม สงวนไว้เพื่อให้คงสภาพธรรมชาติดั้งเดิม เพื่อรักษาสมบัติทางธรรมชาติให้อนุชนรุ่นหลังๆ ได้ชมและ ศึกษาค้นคว้า มีลักษณะที่สำคัญ คือ

(1) เป็นสถานที่ที่สภาพธรรมชาติเป็นที่โดดเด่นน่าสนใจและงดงาม
(2) มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใด
(3) โดยทั่วไปต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 ตารางกิโลเมตร เป็นสถานที่สงวนรักษาไว้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษา และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน โดยอาจจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็น เช่น ถนน หรือเส้นทางไปชมธรรมชาติ ที่พักดูแลและบำรุงรักษา
           
                 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ริเริ่มต้นแบบการจัดอุทยานแห่งชาติขึ้น โดยประกาศให้เขตเยลโลสโตน (Yellowstone) เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของโลก (พ.ศ.2415) ต่อมาจึงมีประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยจัดให้มีอุทยานแห่งชาติขึ้น ในประเทศของตนตามอย่างสหรัฐอเมริกา นับถึงปัััจจุบันเชื่อว่าทั่วโลกมีอุทยานแห่งชาติแล้วมากกว่า 1,392 แห่ง สำหรับอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัด นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี และสระบุรี นอกจากนี้ยังมีอุทยานแห่งชาติอื่น ๆ เช่น อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตะรุเตา หมู่เกาะอ่างทอง เขาหลวง เป็นต้น
           
2.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (Wildlife Sanetuary) หมายถึงพื้นที่ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย เพื่อว่าสัตว์ป่าในพื้นที่ดังกล่าวได้มีโอกาสสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้มากขึ้น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรก คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี ปัจจุบันประเทศไทย ได้ประกาศจัดตั้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้ว 34 แห่ง รวมพื้นที่ 16,305,294 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 5.08 ของพื้นที่ประเทศ
           
 3.วนอุทยาน (Forest Park) หมายถึงพื้นที่ที่มีทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงาม มีความเด่นในระดับท้องถิ่น ซึ่งจัดไว้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและเที่ยวเตร่ของประชาชน มีการปรับปรุงตกแต่งสถานที่ เพื่ออำนวยความสะดวก ให้เหมาะสม หลักทั่วไปในการจัดตั้งวนอุทยาน คือ

(1) ต้องมีทิวทัศน์ที่สวยงาม
(2) เป็นพื้นที่ที่อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ
(3) มีพื้นที่ประมาณ 500-5,000 ไร่
(4) อยู่ไม่ห่างไกลจากชุมชนมากนัก
(5) เป็นสถานที่ที่ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักกันดี วนอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย คือ วนอุทยานน้ำตกกระเปาะ จังหวัดชุมพร ประกาศจัดตั้ง เมื่อปี พ.ศ.2501
           
4.เขตห้ามล่าสัตว์ป่า (Non-hunting areas) หมายถึงบริเวณที่ที่ราชการใช้ในราชการ หรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน การกำหนดเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จะประกาศขึ้นเป็น ราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าชนิดใดหรือประเภทใดก็ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี กรมป่าไม้เป็นคราว ๆ ไป
           
5.สวนพฤกษศาสตร์ (Botanical Garden) หมายถึงสถานที่ที่ราชการได้รวบรวมพันธุ์ไม้ไว้ทุกชนิดทั้งในและนอกประเทศ ที่มีคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจทางด้านความสวยงาม และที่หายากมาปลูกไว้โดยแยกเป็นหมวดหมู่ และตระกูลเพื่อการศึกษาวิจัยและการเผยแพร่การขยายพันธุ์ ให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและแก่ประเทศชาติสืบไป สวนพฤกษศาสตร์ ที่สำคัญและคนทั่วไปรู้จักเป็นอย่างดี คือ สวนพฤกษศาสตร์พุแค จังหวัดสระบุรี สวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง จังหวัดตรัง เป็นต้น
           
6.สวนรุกขชาติ (Arboretum) หมายถึงสวนเล็ก ๆ มีพื้นที่น้อยกว่าสวนพฤกษศาสตร์ สร้างขึ้นเพื่อรวบรวมพันธุ์ไม้ต่างๆ ไว้ โดยเฉพาะไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจและไม้ดอกซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่นนั้น แต่มิได้ปลูกเป็นหมวดหมู่เหมือนอย่างในสวนพฤกษศาสตร์ แต่มีชื่อพันธุ์ไม้ติดไว้ มีการทำถนนและทางเท้าเข้าชม จุดมุ่งหมายเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและการศึกษา ปัจจุบันมีสวนรุกขชาติที่ดำเนินการอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ มากกว่า 15 แห่ง เช่น สวนรุกขชาติสกุโณทยาน จังหวัดพิษณุโลก และสวนรุกขชาติธารโบกธรณี จังหวัดกระบี่ เป็นต้น
           
7.พื้นที่สงวนชีวาลัย (Biosphere Reserve) หมายถึงพื้นที่อนุรักษ์สังคมพืชและสัตว์ในสภาวะของระบบนิเวศที่เป็นธรรมชาติ เพื่อรักษาความหลากหลายทาง พันธุกรรมและเพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะข้อมูลพื้นฐาน ทั้งในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติและที่ถูกเปลี่ยนแปลงไป พื้นที่สงวนชีวาลัยนี้มีการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในการศึกษาและฝึกอบรมด้วย ซึ่งพื้นที่เหล่านี้สภาประสานงานนานาชาติด้านมนุษย์และชีวาลัย (The Man and the Biosphere International Co-ordinating Council) จะเป็นผู้ประกาศ
           
8.พื้นที่มรดกโลก (World Heritage) หมายถึงพื้นที่ที่มีหรือเป็นตัวแทนทรัพยากรธรรมชาติหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีความเด่นในระดับโลก ซึ่งอาจประกอบด้วยวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของโลก (The Earths Evolutionary History) ขบวนการทางธรณีและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต (Geological Process and Biological Evolution) ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่พิสดารหรือลักษณะพิเศษเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ (Superative natural Phenomena) หรือระบบนิเวศที่ประกอบไปด้วยสัตว์หรือพืชที่หายาก (Habitat Containing Theatened Species) มีคุณค่าและความสำคัญทางชีวภาพ ซี่งพื้นที่นี้ต้องได้รับการประกาศจาก UNESCO แหล่งมรดกโลกกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลกจนถึงเดือนธันวาคม 2535 มีทั้งหมด 378 แหล่ง แบ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม 278 แหล่ง มรดกทางธรรมชาติ 85 แหล่ง และเป็นทั้งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ 15 แหล่ง แหล่งมรดกของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติมี 4 แหล่งคือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มรดกบ้านเชียง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร การที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องจากมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ข้อ 1 คือ มีคุณค่าและความสำคัญทางชีวภาพ และหลักเกณฑ์ข้อ 2 คือ มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ และหลักเกณฑ์ข้อ 3 คือเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าและพรรณพืชนานาชนิด
           
9.พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 (Watershed Class 1) หมายถึงพื้นที่ป่าที่ป้องกันไว้เพื่อเป็นต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งให้น้ำต่อพื้นที่ตอนล่าง มักเป็นพื้นที่ตอนบนที่มีความลาดชันมาก ดินมีสมรรถนะในการพังทลาย เป็นพื้นที่ที่ควรเก็บไว้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
           
10.ป่าชายเลนอนุรักษ์ (Conservation Mangrove Forest) หมายถึงป่าชายเลนที่หวงห้ามไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ใด ๆ นอกจากจะปล่อยให้เป็นสภาพธรรมชาติ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์พืชและสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ พื้นที่ที่ง่ายต่อการถูกทำลายและการพังทลายของดิน พื้นที่ป่าที่สมควรสงวนไว้เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ เป็นต้น เช่น กำหนดให้มีพื้นที่ที่อยู่ห่างไม่น้อยกว่า 20 เมตร จากริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลองธรรมชาติ และไม่น้อยกว่า 75 เมตรจากชายฝั่งทะเลเป็นป่าชายเลนอนุรักษ์
           
11.พื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ (Natural Conservation Area) หมายถึงพื้นที่ธรรมชาติที่ประกอบด้วย เกาะ แก่ง ภูเขา หนอง บึง ทะเลสาบ ชายหาด ซากดึกดำบรรพ์ และธรณีสัณฐานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งประกาศตามมติ ค.ร.ม. พ.ศ.2532

วิธีการอนุรักษ์ป่าไม้ที่สำคัญคือ
     1.การคุ้มครองป่าไม้
     2.การควบคุมการตัดไม้
     3.การปลูกป่า
     4.การป้องกันไฟป่าและแมลงทำลายต้นไม้
     5.การใช้ไม้อย่างประหยัด ใช้วัสดุอื่นแทนไม้ หรือการนำเศษไม้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
     6.การปรามปราบผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า
     7.การรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นความสำคัญของป่าไม้
     8.มีนโยบายเปิดป่าสัมปทานการทำป่าไม้เพื่อช่วยอนุรักษ์ป่า



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น